วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลดเค็มลดโรค

ลดเค็มลดโรค

ปัญหาการเกิดโรคเรื้อรังได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั้งในระดับโลกและประเทศไทย  ทั่วทุกจังหวัดจนถึงครัวเรือน   โดยเฉพาะปัญหาโรคที่เกิดจากการกิน   เราคงได้ยินคำเชิญชวนให้คนไทยลดกินอาหารหวาน  มัน  เค็มอยู่บ่อยๆ   ธรรมชาติคนทั่วไปแสวงหาความสุขด้วยการกินอาหารที่มีรสชาติอร่อย  จึงทำให้ได้รับสารปรุงแต่งมากเกิน  ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ชอบทดลองกินของอร่อย  ที่ไหนมีก๋วยเตี๋ยวอร่อยก็ชอบลองไปแวะกิน   ขณะกินไม่พบว่าอาหารมีรสเค็ม  แต่เมื่อกินเสร็จมีอาการปากแห้งคอแห้ง  กระหายน้ำ  ต้องกินน้ำตาม 2-3 แก้ว  แสดงว่าได้รับผงชูรส และได้รับเกลือมากเกินนั่นเอง   

การกินเค็มมีผลกระทบต่อไต  เพราะไตทำหน้าที่ปรับโซเดียมให้สมดุล   ถ้าไตทำงานผิดปกติทำให้ไม่สามารถขับโซเดียมได้จึงทำให้สะสมในเลือด   ทำให้ร่างกายเก็บน้ำในหลอดเลือดเพิ่ม   เกิดความดันในหน่วยไตสูง มีการรั่วของโปรตีน   การกินเค็มไม่เพียงส่งผลต่อไตเท่านั้น  ทำให้ความดันสูงในหลอดเลือด   เกิดโรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ  อัมพฤกษ์  อัมพาตตามมา


ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ หรือโรคไตเสื่อมอื่นๆ ที่ต้องกินอาหารรสจืด   จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง  สามารถทำได้ดังนี้
1. อ่านปริมาณเกลือโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของซอสปรุงรส   อาหารสำเร็จรูป และขนมถุงทุกครั้ง  
2. ลดปริมาณเกลือ น้ำปลา กะปิ  ปลาร้า  ซีอิ้ว ซอสปรุงรสต่างๆ   เมื่อปรุงอาหารให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง
3. หลีกเลี่ยงเติมเครื่องปรุง  เช่น ปรุงรสเพิ่มในก๋วยเตี๋ยว   ไม่กินพริกน้ำปลา เป็นต้น
4. หลีกเลี่ยงกินอาหารกระป๋อง  ดองเค็ม  แปรรูป   เช่น  ไข่เค็ม  ปลาเค็ม  ปลาแดดเดียว   ปลาส้ม  แหนม  ไส้กรอก   กุนเชียง  หมูหยอง 
5. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ใช้ผงฟู  (โซเดียมไบคาร์บอเนต)   เช่น ซาลาเปา ขนมปัง  ขนมเค้ก  เบเกอรี่ต่างๆ
6. หลีกเลี่ยงการกินน้ำซุปนอกบ้านต่างๆ  เช่น   น้ำก๋วยเตี๋ยว   พบว่ามีการเติมเกลือ น้ำปลา  ผงชูรส   ซุปก้อน ซุปซอง ในปริมาณสูง    (ขณะกินอาจรู้สึกไม่เค็มแต่มีโซเดียมสูง )
7. เลือกกินอาหารหลากหลายที่มีการปรุงแต่งรสให้น้อย   รสไม่จัดจ้าน   ฝึกกินอาหารรสธรรมชาติ   กินอาหารรสจืด   ลดปริมาณน้ำพริก  กะปิ  ปลาร้า  เครื่องจิ้มให้น้อย  กินผักในแต่ละมื้อให้มากขึ้น 
 ฝึกความเคยชินของลิ้นลดอาหารเค็มจัด   หากสามารถทำได้จะทำให้ความดันเลือดลดลง   หัวใจทำงานดีขึ้น   ลดความเสี่ยงไตเสื่อมและไตวายได้        
                       

                                               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น