ความรู้เรื่องโรคเรื้อรัง

ความรู้เรื่องโรคเรื้อรัง

            โรคเรื้อรังหมายถึงโรคที่รักษาไม่หาย การรักษาเป็นเพียงการพยุงไม่ให้มีการสูญเสียการทำงานของร่างกายมากขึ้น โรคเรื้อรังมีหลายประเภท เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจวาย โรคไตวาย โรคข้อเสื่อม เป็นต้น หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และโรคของหัวใจและหลอดเลือดที่มีความสัมพันธ์กัน โดยหนังสือเล่มนี้จะมีลักษณะพิเศษที่จะกล่าวถึงโรคเรื้อรังเหล่านี้ในคนทำงาน ซึ่งมีช่วงอายุตั้งแต่ 16 – 60 ปี โรคเรื้อรังที่กล่าวถึงจะมีลักษณะเฉพาะหลายอย่างเช่น
1. โรคเรื้อรังแต่ละโรคมีความสัมพันธ์กัน ในทางการแพทย์มีชื่อเรียกแยกต่างหากออกไปเช่นกลุ่มอาการเมตาโบลิค หรือ ซินโดรม X ซึ่งผู้ป่วยจะอ้วน เป็นเบาหวาน และมีความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงพบโรคเรื้อรังได้หลายอย่างในคนเดียวกัน
2. โรคเรื้อรังเหล่านี้ จะมีผลต่อหลอดเลือด ในหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตัน จึงทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดสมองตีบหรือเส้นเลือดสมองแตกทำให้เป็นอัมพาต ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบเกิดกล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ได้ เป็นได้ทั้งหัวใจวาย เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น
3. การรักษาด้วยยาในโรคเหล่านี้มักจะไม่ได้ผลถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องละเว้นอาหารบางอย่างที่ทำให้โรคเหล่านี้มีอาการมากขึ้น รวมทั้งจะต้องออกกำลังกาย เนื่องจากความอ้วนทำให้โรคเหล่านี้เป็นมากขึ้น หรือเป็นสาเหตุของโรคเหล่านี้เอง
4. ในคนที่ยังไม่เป็นโรคสามารถพยากรณ์โรคได้ว่าใครจะเป็น เช่น มีบุคคลในครอบครัวมีอาการของโรค อายุของคนทำงานมาก มีน้ำหนักตัวมาก มีการรับประทานอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้ออกกำลังกาย ก็สามารถทำนายได้ว่าในอนาคตคนทำงานนี้จะต้องมีเป็นโรคเหล่านั้นเป็นต้น คู่
5. ยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้ มีผลข้างเคียงมาก เช่นยารักษาโรคเบาหวาน อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำและเป็นลมหรือหมดสติเป็นครั้งคราว ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงอาจทำให้การปรับความดันโลหิตในเลือดเสีย ทำให้เวลาลุกนั่งมีอาการหน้ามืด เป็นลม ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับคนทำงาน ทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะทำงานได้



ตะลึง! คนไทยเป็น 5 โรคเรื้อรังพุ่ง เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาตกว่า 10 ล้านคน

โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง
เพราะวิถีการดำเนินชีวิตขาดความสมดุล สิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย มีปัจจัยเสี่ยงสารพัดที่กระทบต่อสุขภาพ เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารจานด่วนประเภททอด ปิ้ง ย่าง หนักไปทางเนื้อกับไขมัน อาหารรสจัดๆ โดยเฉพาะหวานมากและเค็มจัด ไม่รับประทาน ผักผลไม้ มีความสะดวกสบายเกินไปจะใช้อะไรก็แค่ปลายนิ้วสัมผัส ร่างกายแทบไม่ต้องขยับ ที่สำคัญมีความเครียดสูง แถมดื่มเหล้าสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีการรณรงค์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนเรามีปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากขึ้น และส่งผลให้กลายเป็น “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” หรือที่เรียกว่า “โรควิถีชีวิต” แพร่ระบาดไปทั่ว และทั้งที่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับเข้าขั้นวิกฤต
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2548 ในจำนวนการตายของประชากรโลกทั้งหมดประมาณ 58 ล้านคน มีถึงร้อยละ 60 ที่ตายจากโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรค คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น



โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
2 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวาน 3.5 ล้านคน แต่มีถึง 1.1 ล้านคนที่ไม่รู้ว่าตนเองป่วย ที่น่าห่วงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ป่วยเหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงกว่าคนปกติถึง 2-4 เท่า และมากกว่าครึ่งมีความผิดปกติของระบบประสาท และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย เกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา เท้า  และไต ในรายที่เป็นไม่มากผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ในรายที่เป็นมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล.) จะมีอาการให้สังเกตได้คือ ปัสสาวะบ่อยและมาก หิวและกระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลียไม่มีแรง บางคนปัสสาวะแล้วมีมดขึ้น อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าถึงขั้นน่าเป็นห่วง ต่อมาก็เป็น โรคความดันโลหิตสูง ในช่วงปีเดียวกันนั้นมีคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้สูงมากถึง 10.8 ล้านคน โดย 5.4 ล้านคนที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นอยู่



โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
ความร้ายแรงแบบโดมิโนของโรคความดันโลหิตสูง อยู่ตรงที่คนที่เป็นโรคนี้มักมีคอเรสเตอรอลสูงกว่าคนปกติ 6-7 เท่า เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และร้อยละ 25 ตามลำดับ และมีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวายถึงร้อยละ 60-75 หลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตันร้อยละ 20-30 ไตวายร้อยละ 5-10 และมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า และโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ 2-4 เท่า
คนเป็นโรคความดันโลหิตสูงระยะแรกจะไม่แสดงอาการ แต่ก็เป็น “เพชรฆาตเงียบ” ที่สร้างความเสียหายอย่างมากมายต่อหลอดเลือดและอวัยวะอื่นๆ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาจะเกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ตา หัวใจ และไต ทำให้หลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก จนเกิดเป็นอัมพาต และอาจทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายตามมา รวมทั้งเกิดโรคไตวายเรื้อรัง




โรคหัวใจ (Heart disease)
สำหรับ โรคหัวใจ 2 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 50 คนต่อวัน หรือชั่วโมงละ 2 คน และเจ็บป่วยนับเฉพาะที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในมีมากเฉลี่ยถึง 1,185 รายต่อวัน  โรคหัวใจที่พบได้มากมีทั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจวาย และอื่นๆ และนับวันก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลการสำรวจพฤติกรรมคนไทยล่าสุดพบว่า คนไทยมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงถึงร้อยละ 86 เพราะความนิยมบริโภคอาหารไขมันสูง ทำให้มีไขมันสะสมในเส้นเลือดแดง ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบตามมา จนมีคนไทยจำนวนมากที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร




โรคหลอดเลือดสมอง  (Cerebrovascular disease)
โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอีกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีแนวโน้มการเกิดผู้ป่วยที่สูงขึ้นมาก
โรคหลอดเลือดสมองแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก และโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน เฉพาะปี 2550 มีคนไทยอายุ 15-74 ปี ที่ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนคน คาดว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 150,000 ราย ทุกวันนี้มีคนไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคนี้อย่างไม่รู้ตัวอยู่ประมาณ 10 ล้านคน ยิ่งเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูงยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3-17 เท่าตัว เป็นโรคเบาหวานเสี่ยงเพิ่ม 2 เท่า ภาวะไขมันคอเลสเตอรอลสูงเสี่ยงเพิ่ม 1.5 เท่า และหากมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าหนึ่งปัจจัย โอกาสเกิดโรคนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีก โดยเฉพาะ โรคหัวใจขาดเลือด โรคสมองเสื่อม โรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง และมะเร็ง
โรคนี้ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อายุ เชื้อชาติ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่-ดื่มสุรา คนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่อายุ 45 ปีขึ้นไป หากมีอาการแขนขาชาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือฟังไม่เข้าใจ เดินเซ เวียนศีรษะเฉียบพลัน ตามองเห็นภาพซ้อน หรือมองมืดมัวข้างใดข้างหนึ่ง ต้องรีบไปพบแพทย์ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะนี่คือสัญญาณเตือนของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
ด้านการรักษาปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลดี การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยลดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือด ความเครียด งดสูบบุหรี่ และเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์


รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ ช่วยลดอัตราเสี่ยงโรคมะเร็ง










โรคมะเร็ง (Cancer)
โรคมะเร็ง สาเหตุการตายอันดับ 1 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2551 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 120,000 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในช่วง 10 ปี มะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และน่าสังเกตว่า ผู้หญิงเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มพบมากในสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป และพบสูงสุดในกลุ่มอายุ 45 ปี เกือบร้อยละ 50 อยู่ในระยะที่มีการกระจายในต่อมน้ำเหลืองแล้ว
มะเร็งระยะแรกๆ มักไม่ปรากฏอาการ จนเมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการเฉพาะ ซึ่งขึ้นกับชนิดของโรคมะเร็งที่เป็น แต่โดยรวมแล้วอาการที่พบทั่วไปในมะเร็งทุกชนิด ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาจมีไข้เรื้อรัง ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ซีด หน้ามืดเป็นลม ใจหวิว เป็นต้น
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อาหารไขมันสูง อาหารเค็มจัด-หวานจัด อาหารปิ้งย่างเผาเกรียม สารเคมีในผัก-ผลไม้และสารที่ใช้ในการถนอมอาหาร อาหารที่มีสารเจือปนผสมสีสังเคราะห์ สารอะฟาทอกซิน การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ การสัมผัสแสงแดดจัดเป็นประจำ การได้รับเชื้อไวรัส การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และอื่นๆ มีเพียงส่วนน้อยที่มาจากความผิดปกติในร่างกายหรือพันธุกรรม หันมาดูตัวเองแล้ว หากใครจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ก็ควรหมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง เพราะการตรวจพบระยะแรก โอกาสรักษาให้หายขาดจะมีมากขึ้น
การรู้เท่าทันโรคภัยพร้อมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่พฤติกรรมใหม่ที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ จะเป็นวิถีทางสู่การ “ลดทุกข์ สุขเพิ่ม” เพื่อการมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว.
ที่มา ข่าวมติชน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น