วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปวดข้อมือจากเล่นคอมนาน

ปวดข้อมือจากเล่นคอมนาน

ในยุคที่ผู้คนจำนวนมากใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ การแชทหรือเล่นเกมส์ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์  บางครั้งเพลินจนลืมเวลา ร่างกายที่อยู่ในท่าเดิมนานๆ  จึงเกิดการเมื่อยล้า และมีปัญหาสุขภาพได้   ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดต้นคอ หรืออาการปวด ชาข้อมือ       ซึ่งหากชะล่าใจ ยังคงดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ  โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือจะถามหาได้

โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ   เกิดจากพังผืดบริเวณข้อมือหนาตัวขึ้นและไปกดทับเส้นประสาทที่ไปยังนิ้วมือจากการใช้มือมากๆ ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ซึ่งโรคนี้มักเกิดกับคนที่ใช้มือทำงานมากๆ   เช่น  แม่บ้านที่ทำกับข้าว  ซักผ้า ถักนิตติ้ง    ผู้ที่ทำงานก่อสร้างที่ใช้ค้อน หรือเครื่องมือที่สั่นสะเทือน และข้อมูลปัจจุบันพบว่า ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้มากที่สุดคือ ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์นานมากกว่า ชั่วโมงต่อวัน  จากการที่ต้องจับเมาส์ ใช้ข้อมือเป็นจุดหมุน   กระดกข้อมือพิมพ์งานบนแป้น หรือเขี่ยสไลด์บนหน้าจอ  คีย์บอร์ดเป็นเวลานาน 

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมือ ปวดร้าวไปถึงแขน     มักมีอาการชาที่นิ้วมือ ตามแนวเส้นประสาท  โดยจะปวดมากขึ้นเมื่อเกร็งมือในท่าเดิมนานๆ  เช่น การจับมีด กรรไกรและอื่นๆ   มักปวดตอนกลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้า หากได้สะบัดข้อมือแล้วอาการจะหายไปชั่วครู่  บางรายมีอาการอ่อนแรงกำมือไม่แน่น หยิบจับของเล็กๆ ลำบาก   ถ้าเป็นมากกล้ามเนื้อมือจะลีบเล็กลง     ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ผู้ความเชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ   เพื่อตรวจวินิจฉัย และให้การรักษา   ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค   ทั้งการกินยา  การปรับวิธีการใช้มือ   ทำกายภาพบำบัด และการผ่าตัด

อย่างไรก็ตามหากการใช้ข้อมือในชีวิตประจำวันไม่ถูกสุขลักษณะ อาการปวด ชาข้อมือและนิ้วมือก็ยากที่จะหายขาดได้  จึงขอนำเคล็ดลับง่ายๆ ในการใช้คอมพิวเตอร์   เพื่อลดอาการปวดข้อมือและช่วยสร้างเสริมสุขภาพของข้อมือด้วย  นั่นคือ

1. ควรวางคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากตัวพอดีกับช่วงแขน    จับเมาส์และคีย์บอร์ดแบบสบายๆ ไม่เหยียดเกร็งหรืองอข้อมือ
2. จัดท่าทางขณะทำงานกับคอมพิวเตอร์โดยให้ข้อศอกสูงกว่าแป้นพิมพ์เล็กน้อยและปล่อยแขนสบายๆ ไม่เกร็งหรือยกหัวไหล่
3. ใช้แผ่นรองข้อมือนุ่มๆ รองที่ข้อมือขณะใช้เมาส์  เพื่อลดการกระดกข้อมือขึ้น
4. ขณะใช้คอมพิวเตอร์ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและหมั่นบริหารข้อมือ แขน หัวไหล่ เพื่อผ่อนคลายอาการปวดเมื่อย


ที่สำคัญคือลดการใช้งานของมือลง  และบริหารกล้ามเนื้อมืออย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยลดความทรมานจากอาการปวดข้อมือลงได้มาก   แต่ถ้าหากเป็นมาก ควรพบแพทย์เพื่อรักษาจะดีกว่านะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น