วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557

ลูกเลี้ยงง่าย อย่าชะล่าใจ..ระวังเป็น “ออทิสติก”



ลูกเลี้ยงง่าย อย่าชะล่าใจ..ระวังเป็น “ออทิสติก” 
ออทิสติก เป็นความผิดปกติทางพัฒนาการของเด็กรูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะชอบแยกตัว อยู่กับตัวเอง   ไม่พูด หรือติดต่อสื่อสารกับคนอื่นไม่เป็น และมีปัญหาด้านพฤติกรรม เกิดข้อจำกัดในการดำรงชีวิต วันที่ ๒ เมษายน นี้ องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันรณรงค์ตระหนักรู้ “ออทิสติกโลก” หรือ World Autism Awareness Day : WAAD  เพื่อหามาตรการต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคนี้

ออทิสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก  ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง 4-5 เท่า และยังไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติอย่างแน่ชัด  แต่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ทำให้สมองทำงานผิดปกติ   โรคนี้เป็นตั้งแต่เกิดโดยมีอาการแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ การสังเกตลูกว่าเป็นออทิสติกหรือไม่นั้น  สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ เด็กมักจะไม่สบตา  เรียกชื่อไม่สนใจหันมามอง  หน้าตาเฉยเมย  ไม่ยิ้ม หรือหัวเราะ  ไม่ชอบให้อุ้ม  ไม่แสดงท่าทีเรียกร้องความสนใจใดๆ  ค่อนข้างเงียบ   ไม่ส่งเสียง  เลี้ยงง่าย พูดไม่เป็นคำ แต่ออกเสียงที่ไม่มีความหมาย   ไม่สนใจของเล่น หรือคนรอบข้าง   ชี้นิ้วบอกความต้องการไม่เป็น อยากได้อะไรมักทำเอง หรือจูงมือพ่อแม่ไปหยิบให้โดยไม่ส่งเสียง   ชอบจ้องมองสิ่งของที่เป็นแสงวาววับ  แสงไฟ  เงาวูบวาบ หรือของที่หมุนๆ  เช่น พัดลม  ล้อรถที่กำลังหมุน   ชอบเล่นมือ สะบัดมือ  หมุนตัว  โยกตัว  เขย่งเท้าเดิน  ไม่เข้าใจสีหน้าอารมณ์ของผู้อื่น  เล่นกับเด็กในวัยเดียวกันไม่เป็น   มักจะเล่นกับเด็กที่โตกว่าหรือผู้ใหญ่  ไม่สนใจของเล่นที่เด็กทั่วไปเล่น แต่ไปเล่นของที่ไม่ควรเล่น   จินตนาการไม่เป็น  เช่น วางเรียงบล็อกไม้เป็นรถไฟ   ก้อนหินเป็นขนม    ไม่รู้จักแยกแยะหรือหลีกหนีอันตรายได้   เช่น  เห็นสุนัขท่าทางดุๆ เห่าเสียงดัง แต่กลับวิ่งเข้าไปหา

คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดูจึงจำเป็นต้องสังเกตพัฒนาการเด็กตามวัย   ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ใน “สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก” หรือสมุดสีชมพูที่ได้รับจากโรงพยาบาลเมื่อครั้งที่ไปฝากครรภ์แล้ว โดยควรบันทึกพัฒนาการเด็กตามอายุที่ลูกทำได้ในช่องที่ให้ไว้   ในสมุดสีชมพูนี้จะมีข้อแนะนำวิธีส่งเสริมพัฒนาการของเด็กด้วย หากเด็กมีพัฒนาการล่าช้า เช่น อายุ 3 เดือนลูกไม่สบตา ไม่ทำท่าดีใจเมื่อแม่อุ้ม อายุ 6 เดือนไม่มองตาม ไม่หันตามเสียง ไม่สนใจคนที่เล่นด้วย ฯลฯ  ซึ่งหลักจำสั้นๆ คือ “ไม่สบตา  ไม่พาที  ไม่ชี้นิ้ว”  ให้นึกถึงออทิสติก คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะเจาะจงให้หายขาดได้  แต่การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องตั้งแต่ลูกอายุน้อยๆ ช่วง 2 ขวบแรก  จะเพิ่มความสามารถทางภาษาและสติปัญญาของลูกได้ และเชื่อว่าความรัก ความใส่ใจ ที่พ่อแม่มีให้ลูกอย่างเต็มเปี่ยม   จะค่อยๆ พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ  มีทักษะที่ดีในการดูแลลูกอย่างต่อเนื่อง   ทำให้ลูกมีพัฒนาการดีขึ้นเต็มศักยภาพได้  จึงช่วยให้ลูกสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น